3G phones “จินตนาการของสังคมยุคข้อมูลข่าวสารกับ 3 จี”
“จินตนาการของสังคมยุคข้อมูลข่าวสารกับ 3 จี”
By pijitra
ได้เห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประมูลสัมปทาน 3 จี อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์มาหลายสัปดาห์ ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าประเทศไทย ภายในการกำกับของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความพยายามในการนำเอาสินทรัพย์ของชาติ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารมาเป็นตัวแปรในการทำเงิน อัดฉีดเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาให้เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพลังของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
แน่นอนว่า หากจะมีอะไรดลบันดาลใจให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจาก 2 จี เป็น 3 จี ในปีนี้หรือปีหน้านั้น คงจะไม่ทำให้คนไทยเรามีความทันสมัยขึ้นในพริบตา หรือมีความศิวิไลซ์ ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในโลกได้อย่างฉับพลัน เพราะลำพังแค่เรื่องการออกสัมปทาน เราก็เชื่องช้า ล้าหลังกว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปหลายปีแล้ว ดังนั้นคำตอบของ 3 จี ในเรื่องความอินเทรนด์ ทันสมัยจึงไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นคงอยู่ที่การนำเอาสินทรัพย์ดังกล่าวมากระตุ้นให้เกิดการลงทุน ขยับขยายฐานการทำเงินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (รวมถึงนักการเมืองผู้คุมนโยบาย) ให้เกิดขึ้นในเร็ววัน โดยหวังว่าหากสัมปทานคลอด รัฐบาลก็สามารถส่งไม้ต่อให้กับภาคเอกชนในการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดเครือข่ายการสร้างธุรกิจ และสร้างงานใหม่ๆ ตามแต่ศักยภาพของเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวย
เห็นได้ชัดว่า องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 3 จีนั้นจะจำกัดอยู่กับเฉพาะกลุ่มกูรู และผู้รู้ที่ติดตามเทคโนโลยีดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งกลุ่มกูรูเหล่านี้เองมักจะเป็นกลุ่มคนที่ข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 3 จี และมักจะหยิบยื่นภาพฝันให้กับผู้บริโภค จากการมีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ในมือ ดังเช่น จากบทความในคอลัมน์ “Friday application” ของคุณสมสกุล เผ่าจินดามุข ในกรุงเทพธุรกิจ ที่ระบุถึง การรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3 จี โดยบริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินอย่าง LECG หรือโดยองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ว่า มักจะมีการสาธยายอรรถประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้บริโภคในเชิง “สุขภาวะ” (Well-being) เป็นที่ตั้ง ดังเช่นการให้ภาพฝันว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสในประเทศโลกที่สามสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ประหนึ่งนักลงทุนในวอลล์สตรีท ดังเช่นการให้ตัวอย่างของชาวนาหรือเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อรับฟังข่าวราคาพืชผล หรือตัวเลขการซื้อขายสินค้าเกษตรได้อย่างทันท่วงที ซึ่งคุณสมสกุลก็ได้สรุปถึงความเพ้อเจ้อของธนาคารโลก ที่ตะบี้ตะบันเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มทุน จนนำเสนอภาพฝันให้กับผู้บริโภคแบบไม่ลืมหูลืมตา
ดังนั้น หากกลับมาวิเคราะห์ถึงกระบวนการออกสัมปทาน 3 จีในประเทศเราแล้ว จะพบว่าในฐานะที่เราไม่ได้เป็นหนูทดลองเจ้าแรกในอุตสาหกรรมนี้ เราจึงสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของตลาด 3 จี พร้อมกับเคลียร์ภาพฝันๆ ดังกล่าวให้กลับเข้ามาสู่ความเป็นจริงที่ชัดเจนขึ้นได้ นั่นคือ
1. ภาพฝันของการทำเงินใน 3 จี : การเติบโตในธุรกิจโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 3 นี้ จะไม่ทำเงินแบบก้าวกระโดดเหมือนกับที่เคยทำใน 2 จี เนื่องจากมูลค่าเพิ่มของโครงข่าย 3 จีนั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหา (Content) และข้อมูล (Data) เป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโครงข่ายจำเป็นต้องเชื่อมโยง และพึ่งพากับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาสื่อ (Content providers) ดังนั้น อุตสาหกรรม 3 จี จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านใน 3-4 ปีแรก ซึ่งจะยังไม่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเติบโตทางตลาดมากนัก ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคคนไทย ที่ยังไม่ถึง 30% ของการใช้บริการทั้งหมด ก็ยิ่งทำให้ภาพฝันในการทำเงินแบบก้าวกระโดดชะงักลง จากบทเรียนของหลายๆ ประเทศ พบว่าความคาดหวังอย่างเหลือล้นของการทำเงินในธุรกิจ 3 จีแบบก้าวกระโดดนี้เอง เกือบทำให้บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายๆ รายต้องล้มละลายไป เนื่องจากการคาดเดาที่ผิดๆ คิดว่า 3 จีจะทำเงินจนนำไปสู่ปรากฏการณ์ของการประมูลสัมปทานในราคาแพงหูฉี่ในหลายๆ ประเทศในยุโรป
อย่างไรก็ตาม พบว่าการเติบโตในธุรกิจนี้น่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกของการเปิดตัวคงจะเน้นที่การใช้ 3 จี ในฐานะของการเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ (mobile internet) หรือการใช้ 3 จีกับเครื่องโน้ตบุ๊ค เพื่อเข้าถึงบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (mobile broadband) ไปก่อน และหลังจากนั้น ก็จะนำไปสู่การแสวงหากำไรจากการเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น
2. ภาพฝันของการสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร : การเกิดขึ้นของ 3 จีนี้มักจะหยิบยื่นจินตนาการของการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มผู้ใช้ โดยเฉพาะการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในแบบทุกที่ทุกเวลา และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทรงคุณค่าอันนำพาคนในประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์ แบบก้าวกระโดดนั้น ดูเหมือนจะเป็นภาพฝันที่เลื่อนลอย เนื่องจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีทำง่าย แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดของคนทำยาก ทั้งนี้ เทคโนโลยีเป็นเพียงวัตถุที่ใส่เข้ามาเป็นเปลือกให้ดูเหมือนว่าเราจะเจริญ ทัดเทียมกับนานาอารยะได้ แต่หากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของคนในประเทศนั้นๆ ไม่ได้นำไปสู่การใช้ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น เทคโนโลยีนั้นๆ ก็ไม่ต่างกับเครื่องมือที่ช่วยตอกย้ำความด้อยพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งก็เหมือนๆ กับที่เกิดขึ้นกับบ้านเรา ที่ผู้นำใช้เทคโนโลยีสื่อ โฟนอิน บนฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว หรือประชาชนคนทั่วไปใช้เทคโนโลยีสื่อในการสาดโคลน ถ่ายคลิป สร้างภาพอนาจารให้กับผู้อื่นบนพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
ดังนั้น ภาพฝันของการที่ 3 จี จะเป็นเทคโนโลยีสื่ออีกตัวในการสร้างสังคมความรู้ ที่จะทำให้เมืองไทยศิวิไลซ์แบบก้าวกระโดดนั้นคงต้องเก็บพับไป เพราะหากเรายังไม่ปรับพฤติกรรมการใช้สื่อให้ทันสมัยตามความล้ำของเทคโนโลยี เนื้อหาใน 3 จีคงจะหนีไม่พ้นเกม การพนัน และคลิปอนาจาร ที่อัพโหลดได้เร็วขึ้นในแบบทุกที่ทุกเวลาแทน
3G phones “จินตนาการของสังคมยุคข้อมูลข่าวสารกับ 3 จี”
3G Mobile phone 3G iPod 3G iPhone 3G Wireless 3G Accessories
3G Mobile phone 3G iPod 3G iPhone 3G
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น